เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2567
เรื่อง กรรมฐานแก้กรรม
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
กำหนดสติ ในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้ทั้งกาย รู้เพื่อปล่อยวาง ผ่อนคลายร่างกายทุกส่วน ความหนัก ความตึงความเกรง ผ่อนคลายทั่วร่างกาย พร้อมกับน้อมนำความรู้สึกที่เราผ่อนคลายร่างกาย เพื่อปล่อยวาง จากความเกาะ จากประสาทสัมผัส ที่จิตเราไปเกาะไปยึด ในร่างกายขันธ์ 5 ทั้งหมด ปลดความเกาะ การควบคุม ความติดในร่างกายทั้งหมด ตัดจากผัสสะของเรา ผ่อนคลาย ปล่อยวางร่างกาย ตัดร่างกายขันธ์ 5
เมื่อตัดกายแล้ว จึงมากำหนดพิจารณา ปล่อยวาง ความคิด ความกังวล ความห่วง ทั้งในภารกิจหน้าที่ ทั้งความห่วงใยในบุคคล ตัดความห่วง ความกังวลทั้งหลาย ที่ภาษาพระท่านเรียกว่า ปริโภช ความกังวล ความห่วงความวิตก ปลดไปจากจิตของเรา ภาระของใจ ปลดไปจากจิตของเรา วางทุกสิ่ง จนจิตเข้าถึงความเบา ความสบายความสงบ พิจารณาโดยปัญญาให้เห็น ความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้น จากความยึด จากความเกาะ ยิ่งยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดมาก ใจเราก็ทุกข์ ยิ่งยึดมั่นถือมั่นมาก จิตก็มีความหนัก จิตยิ่งมีความกังวล จิตก็มีความหนักมากเท่านั้น ความหนักนั้น เป็นเครื่องถ่วงให้จิตของเรานั้น ไม่สามารถเข้าสู่ความสงบ เข้าสู่สมาธิ ความวิตกทำให้จิตเราคิดฟุ้ง ปรุงวนเวียนอยู่ กับสิ่งที่เราวิตกกังวล ไม่ต่างจากการพายเรือในอ่าง
ดังนั้น เมื่อเราคิดพิจารณาแล้ว เข้าใจว่าทำไมเราจึงต้องปล่อยวาง และรู้ผลของการปล่อยวาง ว่าเมื่อยิ่งวางยิ่งเบา ยิ่งวางยิ่งสงบ ยิ่งวางยิ่งเย็น ความเย็นนั้นไม่ใช่ความหนาว แต่เป็นความร่มเย็นของจิต ยิ่งเรามีกิเลส มีความโลภ ความโลภก็ทำให้จิตเราร้อนรน ความโกรธก็ทำให้จิตเราเร่าร้อน
ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่จิตเราสะอาดสงบ ระงับจากกิเลสคือ ความโลภ โกรธ หลง จิตเราสามารถปล่อยวางได้มาก จิตก็จะเข้าถึงความเบา ความสุข ความสงบ ความร่มเย็น พิจารณาเห็นประโยชน์เห็นคุณ แห่งการปล่อยวางแล้ว เราจึงกำหนดวางทุกสิ่งวางลง ทั้งความเกาะในร่างกายขันธ์ 5 ปล่อยวาง ความกังวลภาระของจิตเราปล่อยวาง จนเหลือแต่เพียงความสุขสงบ สติยังเต็มรอบ กำหนดดูรู้อยู่กับลมหายใจ จินตภาพว่าลมหายใจเป็นเหมือนกับแพรวไหม พริ้วผ่านเข้าออกในกาย กำหนดใช้สติรู้ในลมหายใจละเอียด ลมหายใจยิ่งละเอียดบ่าวจิตยิ่งสงบยิ่งเข้าสู่สมาธิ
ฌาน คือ ระดับความสงบของสมาธิ ความสงบของจิต ลมหายใจสัมพันธ์กับสมาธิจิต ยิ่งลมหายใจรายละเอียดมากเท่าไหร่ จิตก็เรายิ่งเข้าสู่ฌานสมาบัติที่สูงขึ้น จนเมื่อไหร่ที่ลมหายใจสงบระงับหยุดลง จิตเข้าถึงเอกัคคตารมณ์ จิตเข้าถึงฌาน 4 กำหนดตัวรู้ในลมหายใจ ยิ่งลมหายใจรายละเอียด จิตยิ่งเข้าถึงความสงบ
ความสงบนั้น คือ ความสุขจากสมาธิ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ความสุขเสมอด้วยความสงบนั้นไม่มี นั่นก็คือความสงบของสมาธิจิต เป็นความสงบทางใจที่มีความละเอียด แตกต่างจากความสุขทางโลก ที่ยังต้องมีวัตถุมาปรนเปรอ ความปรารถนา ความครอบครอง ความอยากได้ใคร่มี แต่ความสุขของสมาธิ เป็นความสุข ที่เราสามารถค้นหาได้จากภายในจิตของเรา ยิ่งวางมากเท่าไหร่ ใจยิ่งสงบเย็น ยิ่งวางได้มากเท่าไหร่ ใจยิ่งปลดภาระของจิตออกไป จิตจึงเข้าถึงสภาวะที่เบา ที่ละเอียด ที่สงบ กำหนดจิตในการปล่อยวาง สงบ ร่มเย็น เข้าถึงสันติภายในเรือนใจของเรา
อยู่กับลมหายใจสบาย ทรงอารมณ์ กำหนดรู้ว่าความสุขของสมาธิ สติกำหนดรู้อยู่ สติที่กำหนดรู้ ในความสุขความทุกข์ ความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ความเบา ความหนัก คือสติกำหนดรู้ในเวทนามาสติปัฏฐาน 4 เวทนาคือการที่สภาวะที่เรากำหนดรู้ เสวยอารมณ์ ทรงอารมณ์อยู่ในความสงบ ความสุขของสมาธิ สภาวะธรรมที่จิตของเราปล่อยวาง จากร่างกาย จากภาระของใจ เข้าสู่ความสงบ รายละเอียด เบาสบาย จิตปราศจากกิเลสก็รู้อยู่ จิตสงบเราก็รู้อยู่ จิตทรงสมาธิเราก็รู้อยู่ เรียกว่าสติของเรา กำหนดรู้ทรงอยู่ใน จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน 4 สงบนิ่งเป็นสุข จิตมีความผ่องใส ในความนิ่ง ความหยุด ความสงบ เรากำหนดในความหยุด ความนิ่งนั้น
กำหนดน้อมจินตภาพ ขึ้นมาเป็นดวงแก้วสว่าง เป็นเพชรประกายพรึก ดวงแก้วที่เป็นเพชรประกายพรึก สว่างเป็นเหมือนกับเพชรลูก ที่เป็นประกายระยิบระยับ มีเส้นแสงรัศมี กระจายออกโดยรอบ 360 องศา เป็นเส้นแสงรุ้ง พุ่งออกมาจากดวงจิต เลยจากเส้นแสงของจิต ปรากฏสภาวะรายรอบ อาณาบริเวณ บรรยากาศเป็นเหมือนกับกากเพชรแพรวพราว โปรยปรายอยู่หลายรอบ เลยจากเส้นรัศมีของจิต จิตของเราเปล่งประกาย เปล่งรัศมีเข้าสู่สภาวะ ที่เรียกว่าปฏิภาคนิมิต เป็นสภาวะที่จิตของเราเข้าสู่ จิตเดิมแท้อันเป็นประภัสสร จิตที่สะอาดสว่างสงบ จิตที่เปล่งประกาย
เมื่อภาพนิมิตกำหนดชัดเจน เราเชื่อมโยงกับจิตใจ เคล็ดลับของการปฏิบัติสมาธิ ก็คือ นิมิตสัมพันธ์กับจิตใจ ยิ่งแสงสว่างของจิต เปล่งประกายมากเท่าไหร่ ใจเรายิ่งเป็นสุข ยิ่งเอิบอิ่ม ยิ่งแสงสว่างเปล่งประกายจากจิต จิตยิ่งมีกำลัง ยิ่งเป็นสุข จนจิตนั้นเปล่งประกายเจิดจรัส เต็มที่เต็มกำลัง ใจยิ่งยิ้ม ยิ่งอิ่ม ยิ่งเย็น สภาวะที่เกิดอภิญญาสมาบัติ สภาวะที่จิตเข้าถึงความเป็นทิพย์ ก็เกิดขึ้นในสภาวะที่จิตเป็นสุขที่สุด จิตเปล่งระกายสว่างรัศมีมากที่สุด
ดังนั้น ผู้ที่ทรงอารมณ์ในอารมณ์จิต ที่เป็นปฏิภาคนิมิต จิตประภัสสร จิตเป็นสุขอย่างยิ่ง สุขนี้เป็นสุขจากฌานสมาบัติ เป็นสุขจากอำนาจของกสิณ เมื่อจิตของเราเข้าถึงสภาวะความเป็นทิพย์ จนเป็นสมาบัติ คือมีความทรงตัว จิตนั้นก็กลายเป็นแก้วสารพัดนึก นึกคิดสิ่งใดก็สมดังปรารถนาได้ นึกคิดสิ่งใด สิ่งนั้นก็สำเร็จได้ ด้วยกำลังแห่งจิตตานุภาพ
เมื่อเรากำหนดรู้ในคุณภาพประโยชน์ รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ทำแล้วเกิดผลเช่นไร มีลักษณะอย่างไร อารมณ์จิต อารมณ์พระกรรมฐานในจุดต่างๆ นี้เป็นเช่นไร เราก็ทรงอารมณ์จิต ให้จิตของเราเปล่งประกาย เข้าสู่สภาวะแห่งปฏิภาคนิมิต จิตคือกสิณ กสิณคือจิต จิตเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง จิตเข้าถึงความสุข จิตเข้าถึงความเป็นทิพย์ สว่างเจิดจ้าเต็มกำลัง
ทรงอารมณ์ไว้ ทรงภาพ ทรงสภาวะธรรมไว้ เพื่อให้เกิดวสี คือความทรงตัว จนจิตเกิดสมาบัติ เปล่งประกาย สว่าง เอิบอิ่มเป็นสุข รายรอบตัวเราเต็มไปด้วยแสงสว่าง เส้นแสง เปล่งประกายออกมาจากดวงจิต สภาวะรายรอบเต็มไปด้วยความแพรวพราว ระยิบระยับ รายรอบห้อมล้อมในอาณาบริเวณ ที่เราฝึกสมาธิ มีแต่แสงสว่าง มีแต่กระแสแห่งความเป็นทิพย์ ความสงบ ความสงัดจากกิเลส สถานที่ที่เราปฏิบัติก็พลอยเป็นมงคล เป็นทิพย์ตามไปด้วย
ดังคำกล่าวของครูบาอาจารย์ที่กล่าวไว้ว่า บุคคลที่ฝึกที่ปฏิบัติธรรม นั่ง นอน ยืน เดิน จะอยู่สถานที่ใดก็ตามสถานที่นั้น ก็กลายเป็นทิพยวิมานทั้งหมด เพราะจิตนั้นมีความสงบร่มเย็น มีความเป็นทิพย์ ตอนนี้เราเจริญพระกรรมฐานจิตทรงความเป็นทิพย์ บ้านเราที่ฝึกที่ปฏิบัติอยู่ ก็มีสภาวะ มีกระแส มีพลังงานแห่งจิต ที่ปรับคลื่นปรับสถานที่ให้สถานที่นั้น กลายเป็นที่ที่อุดมมงคล มีความดีงาม มีผู้ปฏิบัติ มีผู้เจริญพระกรรมฐาน เปล่งประกาย แสงแห่งจิต เป็นเพชรประกายพรึก สว่าง ทรงอารมณ์ไว้ ภายในใจแย้มยิ้ม อิ่ม สว่าง สงบร่มเย็น จิตเราเปล่งประกายแสงสว่างแห่งกุศล ความดีงามความสงบร่มเย็น จิตเดิมแท้เป็นประภัสสร คือจิตที่ปราศจากกิเลส มีความผ่องใสมีความสะอาดสว่างสงบ
จากนั้นกำหนดจิตต่อไป กลางดวงจิตที่เป็นเพชรประกายพรึก เราน้อมรำลึกนึกถึงกำลังของพระพุทธเจ้า กำหนดน้อมอาราธนาพุทธานุภาพเป็นพุทธนิมิต สถิตย์อยู่ภายในจิตของเรา เป็นองค์พระภายใน เราอาราธนากระแสพุทธานุภาพ ประหนึ่งพระพุทธองค์ทรงเสด็จมาประทับอยู่กลางใจของเรา ดวงจิตเราพลอยยิ่งสว่างขึ้น ผ่องใสขึ้น ภาพองค์พระเป็นเพชรประกายพรึกชัดเจน สว่างเต็มกำลัง กำหนดน้อมจิต ว่าเรามีพระพุทธองค์เป็นสรณะที่พึ่งที่อาศัย มีพระธรรมเป็นสรณะที่พึ่งที่อาศัย มีพระอริยสงฆ์ มีพระอริยเจ้า เป็นสรณะที่พึ่งที่อาศัย กำหนดน้อมจิต อาราธนาบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ ขอยกจิตข้าพเจ้าขึ้นไปบนพระนิพพาน พุ่งจิตขึ้นไปบนพระนิพพาน ไปปรากฏอยู่เบื้องหน้ามหาสมาคม อันมีพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์ทรงเสด็จมาประทับอยู่ โดยมีสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน ในมหาสมาคมนั้น
กำหนดแยกจิตอาทิสมานกายของเรา เป็นจำนวนเท่ากับทุกท่าน ทุกพระองค์ จะมีมากน้อยเท่าไหร่หมื่นแสนโกฎิพระองค์ เราแยกจิตกราบทุกท่าน ทุกพระองค์ที่ตัก จากนั้นมากำหนด อธิษฐานจิตว่าเรานั่งปฏิบัติเจริญพระกรรมฐาน อยู่บนพระนิพพานท่ามกลางทุกท่าน ทุกๆพระองค์ น้อมซึมซับรับกระแสจากพระพุทธเจ้าพระ ปัจเจกพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกๆ พระองค์บนนั้น กรรมฐานทุกกองที่ทุกท่านได้เข้าถึงแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าเข้าถึงได้โดยง่ายโดยพลัน การปฏิบัติมรรคผลที่ทุกท่านได้เข้าถึงแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าได้เข้าถึงได้โดยง่ายโดยพลัน จากนั้นน้อมจิตซึมซับกระแส การปฏิบัติ ของทุกท่าน ทุกๆพระองค์ ขอหลั่งไหลรวมลงสู่จิตของข้าพเจ้า และขอให้กรรมฐานทั้งหลายที่ข้าพเจ้าเคยฝึกเคยเจริญมาแล้วในชาติปางก่อน ตราบจนชาติปัจจุบัน ที่ตรงจริต คือจริต 6 ตรงกับวิสัย
คือวิสัยของ สุกขวิปัสสโก1 เตวิชโช2 ฉฬภิญโญ3 ปฏิสัมภิทัปปัตโต4หรือพุทธภูมิ ขอให้ตรงกับจริตวิสัย บารมีของข้าพเจ้า และขอให้ธรรมอันสัปปายะตรงกับอารมณ์จิตใจของข้าพเจ้าพึงใจ ขอแนวทางการปฏิบัติทั้งหลายที่ตรงจริตวิสัย สัปปายะ จงหลั่งไหลรวมลงสู่จิตของข้าพเจ้าเป็นปัจจัตตัง
จากนั้นให้เรานั่ง ตั้งจิตว่าเราอยู่บนพระนิพพาน ทรงสมาธิจิต กรรมฐานกองใดที่ตรงกับจริตวิสัยสัปปายะ ขอจงปรากฏ เมื่อปรากฏในจิตแล้ว เราแต่ละบุคคลจงพิจารณา ทั้งกรรมฐาน ทั้งการเจริญวิปัสสนาญาณ ขอจงราบรื่นไหล เป็นวิปัสสนาญาณที่ถอดถอนใจของข้าพเจ้าจากสังสารวัฏ ขัดเกลาใจของข้าพเจ้าจากสรรพกิเลส ขอกระแสธรรมจากทุกท่านทุกๆ พระองค์ บนพระนิพพาน จงหลั่งไหลร่วมลงสู่จิตข้าพเจ้า แต่ละบุคคลณบัดนี้ด้วยเทอญ
พิจารณาตัดร่างกายขันธ์ 5 พิจารณาตัดกิเลส พิจารณาตัดสิ่งที่เราหวง ที่เราเกาะ ที่เรายึดที่สุด พิจารณาตัดภพจบชาติ
เมื่อน้อมจิตพิจารณาธรรม จนจิตมีความสบายมีความเบาแล้ว เราก็พิจารณาต่อในธรรมที่ทำให้เข้าสู่พระนิพพาน สำหรับคนที่อยู่ในวิสัยที่มีความเคารพรักในพระพุทธเจ้ามาก เคารพรักในครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระอรหันต์มาก อันที่จริงเพียงแค่จิตพิจารณาว่า ปรารถนาที่จะอยากอยู่กับพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันปรินิพพานเข้าสู่พระนิพพานแล้ว เราปรารถนาที่จะอยู่กับพระพุทธเจ้า เพียงเท่านั้นจิตเราอยากอยู่กับพระพุทธองค์ เราก็มีจิตน้อมที่จะไปพระนิพพานได้
หรือบางบุคคล มีวิสัยที่มีความห่วง ความติดในพวก ในเพื่อน ในฝูง เราพิจารณาในธรรมว่า ญาติธรรมของเราหลายคนที่ร่วมบุญร่วมบารมีที่เกิดมา พบเจอกันหลายภพหลายชาติ ชาตินี้เขาตัดสินใจที่จะไปพระนิพพานหมด หากเรายังเกิดต่อ ยังอยู่ต่อ หาคนที่จะคุยด้วยในเรื่องปฏิบัติธรรมไม่ได้ หาคนที่จะมีบุญ มีวาสนาในการปฏิบัติมาแล้วใกล้เคียงกันไม่ได้ อยู่ต่อไปในยุคต่อๆ ไป ก็มีแต่ ช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนาเสื่อมลงถอยลง มีแต่คนพาลเต็มไปหมด เพื่อนเขาไปนิพพานหมดแล้ว เราตัดสินใจว่ายังหลงเกิดอยู่ ไม่พบไม่เจอใคร เหงาแย่ เลยตัดสินใจที่จะไปพระนิพพาน การพิจารณาแบบนี้ก็มี
ถึงเวลาจุดสำคัญที่สุดในการตัดเข้าสู่พระนิพพานก็คือ เราตัดสินใจว่า เราเดินทางในสังสารวัฏมาพอแล้ว เราไปเที่ยวในภพในภูมิ ไปเที่ยวเกิด ในดินแดนต่างๆก็ดี ในภพต่างๆก็ดี มามากพอแล้ว เราพบเจอความแปรเปลี่ยนความผันแปรของชีวิต ของโลกมาพอแล้ว เห็นความไม่เที่ยงของชีวิตมาพอแล้ว ตราบที่เรายังต้องเกิดอยู่ เราก็ต้องเจอแต่ความเปลี่ยนผัน เปลี่ยนแปรแบบนี้ ดังนั้นเราตัดสินใจที่จะไปพระนิพพาน ไม่เกิดอีก
หรืออย่างบางบุคคล เราลองพิจารณาดู ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลงในการเกิด ในการจุติ แต่ละชาติภพ หลายท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ ท่านก็เคยเกิดมาเป็นผู้ที่มีบุญบารมี มีศักดิ์หนักใหญ่ เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ อาทิเช่น หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านก็เคยเกิดมาเป็นกษัตริย์ ในหลายภพ หลายชาติ พอชาติสุดท้าย ท่านก็มาเกิดเป็นคนธรรมดาสามัญ บางครั้งการที่เกิดเป็นคนธรรมดาสามัญ ก็ทำให้เราคิดได้ว่า ความบุญหนักศักดิ์ใหญ่ทั้งหลาย เกียรติยศทั้งหลาย ยศฐาบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย มันไม่ใช่ว่าทุกภพทุกชาติ เราจะเท่าเดิมทุกภพทุกชาติไป บางชาติเรามีความยิ่งใหญ่ บางชาติเราก็เป็นแค่คนธรรมดา แสดงให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง แต่หากที่มันไม่เที่ยงยิ่งกว่านี้ ให้เราลองพิจารณาว่า ชาตินี้เราเกิดเป็นคนธรรมดา ชีวิตก็ยังสามารถดำเนินไปได้ มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง ไปตามบุญ ตามวาระ
แต่ถ้าเราเกิดมาใหม่ คราวนี้กลายเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา คนพิการ คนปัญญาอ่อน ด้วยอำนาจของกรรมที่เราอาจจะเคยทำมาในกาลก่อน คราวนี้ชีวิตมันน่าพึงพอใจ หรือเราเริ่มเห็นทุกข์ไม่อยากเกิด ตรงนี้ก็คือความไม่เที่ยง หรืออย่างเช่นคุณแม่บุญเรือน อดีตชาติท่านก็เคยเป็นย่าโม เคยเป็นคนที่มีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ถึงเวลาในชาติปัจจุบันท่านก็เป็นอุบาสิกา ถือศีล 5 ปฏิบัติธรรมจนสามารถทรงอภิญญาสมาบัติ แสดงฤทธิ์ได้ หายตัวไปปรากฏอยู่ในอุโบสถวัดสัมพันธวงศ์ รวมถึงแสดงอภิญญาได้หลายอย่าง อันที่จริงท่านถือแค่ศีล 5 ด้วยซ้ำ
อันนี้ก็พอให้เราเป็นกำลังใจในการปฏิบัติ ว่าสุดท้ายแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ที่จิต อยู่ที่บารมี คือกำลังใจในการปฏิบัติของเรา ว่าเราจะมีการขยันหมั่นเพียรสม่ำเสมอในการปฏิบัติเพียงใด เอาจริงเอาจัง คือจิตมีความตั้งมั่นมุ่งมั่นต่อพระนิพพานเพียงใด สุดท้าย ทุกสิ่งทุกอย่างรวมลงสู่จิต ถ้าเราปฏิบัติธรรมแล้วจับจุดได้ ทุกอย่างรวมลงที่จิต จิตเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ปฏิบัติมุ่งที่จิต มุ่งที่การพัฒนาจิต มุ่งขัดเกลาจิต ถ้าจิตผ่องใสเป็นกุศลจุดเดียว วาจาก็เป็นกุศล การกระทำก็เป็นกุศล
ดังนั้นทำอย่างไรที่ทำให้จิตเราอยู่ในกุศลเสมอ ตลอดเวลา ไม่มีอกุศล เมื่อจิตเป็นกุศลตลอดเวลา จิตก็มีความผ่องใส ศีลเป็นกรอบ เป็นเครื่องรักษาให้เราไม่ออกนอกขอบเขต ตราบที่เราไม่ออกนอกขอบเขตไปละเมิดศีล เราก็ยังอยู่ในเขตของกุศล ไม่ก้าวข้ามไปอยู่ในเขตของอกุศล เมื่อเราอยู่ในกุศลมากเข้า นานเข้า ชีวิตก็มีแต่กุศล กระแสจิตที่เราปฏิบัติเจริญพระกรรมฐานมากขึ้น มากเข้า ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปฏิบัติมา ผลก็คือคราวนี้คลื่นกระแสจิต คลื่นดึงดูดคลื่น แล้วก็ผลักคลื่นที่ตรงกันข้าม คลื่นที่ว่าก็คือ คลื่นกระแสของกุศล ก็ดึงดูดคนที่เป็นกัลยาณมิตร คนที่เป็นชาวธรรมเข้ามาใกล้ตัวเรา ดึงดูดคนดีๆ เข้ามา ส่วนคนที่ไม่ดี คนที่ศีลไม่เสมอกัน ก็ถูกผลักออกไปจากชีวิตของเรา อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมชาติ คนสนใจเรื่องเดียวกัน ก็ดึงดูดให้มาเจอกันพบกัน คนที่ไม่ชอบในกุศล ก็หลุดไปจากเขตของกุศล คนที่ฝักใฝ่อยู่ในบุญในกุศล ก็พบเจอแต่เรื่องราวที่เป็นบุญเป็นกุศล
ดังนั้นเรากำหนดจิต ขออธิษฐานอยู่บนพระนิพพาน นับแต่นี้ขอให้ชีวิตข้าพเจ้าพบเจอแต่บุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร เป็นกัลยาณมิตรชน เป็นบุคคลที่ใฝ่ในธรรมใฝ่ในกุศล ดึงดูดแต่สิ่งที่ดีงามเข้ามาสู่ชีวิต ไม่มีเรื่องที่เป็นกระทบวุ่นวาย เรื่องราววุ่นวาย เรื่องราวที่กระทบใจ เรื่องราวที่ทำให้จิตเศร้าหมอง เรื่องราวที่เป็นวิบากอกุศล เราไม่เอา นอกจากที่มันจะเกิน เป็นวาระแห่งกฎของกรรมจริงๆ แต่นอกเหนือจากนี้แล้ว ขอให้นับแต่นี้ชีวิตเราอยู่ในกระแสแห่งโลกุตระ กระแสแห่งธรรม กระแสแห่งกุศล ชีวิตถูกนำพาไปด้วยกระแสแห่งโลกุตตรธรรม อยู่ในขอบเขตของศีล ของกุศล ของความดีงาม กำหนดน้อมใจอธิษฐานให้พบเจอแต่สิ่งที่ดี ตราบที่ยังมีชีวิต มีความคล่องตัวในทุกด้าน ตายเมื่อไหร่เราก็ขอไปพระนิพพาน
จากนั้นกำหนดพิจารณาต่อไป พิจารณาว่ากรรมทั้งหลาย ขอให้ข้าพเจ้า จงสามารถกำหนดรู้ ในยถากรรมมุตาญาณ ในบุพเพสันนิวาสานุสสติญาณ ในอตีตังสญาณ ญาณเครื่องรู้ สิ่งใดที่ควรรู้ก็ขอให้รู้ ญาณที่กล่าวถึงนั้นเป็นญาณที่เกี่ยวข้องกับกรรมและกฎของกรรมโดยตรง เรากำหนดรู้ ว่าเหตุที่เกิดขึ้นกับชีวิตในปัจจุบัน แต่ละเหตุการณ์ แต่ละสถานการณ์นั้น เกิดขึ้นเพราะอะไร เมื่อกำหนดรู้ว่าเหตุนี้จึงเกิดผลนี้ เราก็จะได้ยอมรับตามกฎของกรรม เมื่อยอมรับตามกฎของกรรมได้เมื่อไหร่ ใจมันก็ปล่อยวาง มันก็คลาย มันก็หายไปได้
อันนี้ก็ขอยกตัวอย่างอาจารย์เอง รอบที่ป่วยที่มีการไอมากๆ ครั้งนี้ ตอนแรกก็เป็นเยอะมาก จนคิดว่า น่าจะยังไม่หาย กว่าจะหายก็น่าจะอีกสัปดาห์ สองสัปดาห์ ก็ปรากฏว่ามีคืนหนึ่งฝันว่า มีผู้หญิงมาหา ไม่อยู่ใกล้ๆ กระแสจิตก็เป็นความรู้สึกที่เป็นความรักใคร่ แต่ในขณะเดียวกันบริเวณคอ คือบริเวณกระดูกซี่โครงด้านบน คือชิ้นบนสุดที่เรียกว่าไหปลาร้านั้น เปิดจนมองเห็นโครงกระดูก แต่ไม่มีเลือดที่มีลักษณะน่ากลัว เพียงแต่เห็นแผลเปิดเป็นรอยฟันอยู่ จิตก็กำหนดรู้แล้วว่า ที่มาหานี้เธอก็ไม่ใช่มนุษย์ แต่มาให้รู้ เป็นคนที่เคยรู้จักกันในอดีตชาติ ที่เคยทำร้าย ด้วยเหตุที่มีความจำเป็นในสมัยโบราณ จำเป็นต้องประหัตประหารเธอไป ทั้งๆ ที่จิตก็ยังมีความรัก ความผูกพันต่อกัน รอยฟันที่ปรากฏนั้นก็ปรากฏอยู่ สุดท้ายก็รู้ว่าเหตุที่ไอ มันก็มาจากกรรมตรงจุดนี้ ถึงเวลาเมื่อรู้ ก็กำหนดแผ่เมตตา ขอขมากรรม ขออโหสิกรรม พอถึงเวลาสุขภาพก็ค่อยๆ คืนกลับมาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว บางครั้งบางโรค มันก็เป็นเรื่องของเวรกรรม เราทำกรรมไว้ กรรมปาณาติบาตก็ทำให้เกิดความเจ็บป่วย โรคภัยไข้เจ็บ สุดท้ายทุกสิ่งที่เกิดขึ้น แม้แต่สิ่งที่เป็นเรื่องเล็กน้อยกับเรา อันที่จริงแล้วมันก็เป็นกรรม ที่เราเคยทำมาในกาลก่อนทั้งนั้น เพียงแต่คนทั้งหลายไม่รู้ แต่คนที่ปฏิบัติคนที่เจริญพระกรรมฐาน ก็จะรู้ความเป็นไปว่าเหตุที่เราเป็นเช่นนี้ก็เพราะกรรมเรื่องอะไร ดังนั้นรู้ก็ดีกว่าไม่รู้ รู้เราก็แก้ได้
ดังนั้นกรรม โรคที่เกิดจากกรรม เวลาแก้ถึงเวลาแล้วกินยาไปเท่าไหร่มันก็ไม่หาย แต่ขอขมากรรมเสร็จมันหาย อันนี้ก็เพราะว่าเป็นเรื่องของกรรม จริงๆแล้ว รู้ดีกว่าไม่รู้ เพียงแต่ว่าต้องฉลาดที่จะรู้ คือรู้แล้วล ะรู้แล้วเลิก รู้แล้วขมากรรม ดังนั้นจุดนี้ใครก็ตามชีวิตมีความติดขัด ชีวิตมีความขัดข้องในสิ่งใด เรื่องใดก็ตาม เราฝึก เราเจริญพระกรรมฐาน เรากำหนดรู้ เพื่อไปรู้แล้วละ รู้เพื่ออโหสิกรรม รู้เพื่อวาง ถึงเวลาสิ่งต่างๆ มันก็คลายตัวไปได้ อันนี้ก็แนะนำให้ไปใช้ในทุกคน ทุกเรื่อง เรื่องชีวิตส่วนตัวก็ไปใช้ได้ กำหนดรู้ กรู้แล้วอโหสิกรรม อโหสิกรรมแล้วกรรมมันก็จะเบาลง ด้วยเหตุนี้ครูบาอาจารย์ ท่านถึงได้สอนเสมอว่า บุญแห่งการเจริญพระกรรมฐานนั้น มีอานิสงส์สูงมาก สูงที่สุด ด้วยเหตุผลว่า กรรมฐานนั้น สามารถแก้กรรมหรือบรรเทาเบาบางกรรมให้มันเบาลงไปได้
สิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับเราทุกคนมาปฏิบัติพระกรรมฐาน คือฝึกที่จะอโหสิกรรม ฝึกที่จะขอขมากรรม ยิ่งอโหสิกรรมต่อกันได้มากเท่าไหร่ กรรมมันก็เบาบางลงกลายเป็นโมฆะกรรม ใครบอกว่าตัดกรรมไม่ได้ ที่จริงก็คือ เมื่อไหร่ที่เราอโหสิกรรม มันก็เป็นการตัดกรรม เมื่อไหร่ที่เราเลิกเป็นเจ้ากรรมนายเวรของคนอื่น มันก็เป็นการตัดกรรม เหตุผลก็คือ เมื่อไหร่ที่จิตเราเกิดความอาฆาตความพยาบาท เมื่อนั้นจิตเราก็กลายเป็นเจ้ากรรมนายเวร มุ่งคิดแต่จะเอาคืน เพียงแต่ระดับของความอาฆาตพยาบาทการจองเวรนั้น มันเข้มข้นเพียงไหน ถ้าเข้มข้นมาก เราก็ตามไปเกิด จะรู้ตัวไม่รู้ตัว แต่เราก็ตามไปเกิด ตามไปเล่นงาน ตามไปเอาคืนทุกชาติทุกภพอยู่แล้ว
อันนี้ก็คือเรา หาเรื่องก่อเหตุที่จะเกิดเพิ่มไปอีก ยกตัวอย่าง ที่อาจารย์ยกบ่อยก็คือพระเทวทัตในชาติที่เป็นพ่อค้าเป็นเพื่อนกับพระพุทธองค์ สมัยที่ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ถึงเวลา เรื่องถาดทอง พระเทวทัตตอนนั้นกำทรายในมืออธิษฐานขอจองเวรพระพุทธเจ้า เท่ากับจำนวนเม็ดทรายในมือ ลองคิดเอาว่าพยาบาทครั้งเดียว ก่อภพก่อชาติ ก่อวิบากมากแค่ไหน จนสุดท้าย ท่านต้องลงอเวจีมหานรกในชาติที่เป็นพระเทวทัต ลองคิดเอาว่า หากเราเคยกำทรายในมืออธิษฐานจองเวรใคร ซึ่งตลอดหลายภพหลายล้านชาติที่เราเกิด คงไม่ใช่แค่คนเดียว ลองคิดเอาว่าเราจะต้องไปตามเกิดอาฆาตพยาบาทเป็นเจ้ากรรมนายเวรเขา คอยราวีกับเขากี่ภพกี่ชาติ หมื่นชาติแสนชาติล้านชาติยังน้อยไป นี่แค่คนเดียว ถ้าสิบคน ร้อยคน แต่ละชาติมีแค่สักสิบคน เกิดมาแสนชาติก็ล้านคน แต่ละคนเท่ากับจำนวนเม็ดทราย เอาแค่ครึ่งฝ่ามือก็พอ ลองคิดเอาว่าชาติภพมันยาวแค่ไหน อันนี้คือเรื่องกรรมจากความพยาบาท
ให้เราตั้งกำลังใจว่า อธิษฐานจิตเราเคยพยาบาทใครมา ขอให้ปรากฏเป็นจำนวนเม็ดทรายในฝ่ามืออยู่บนพระนิพพาน จากนั้นเราสะบัดฝ่ามือทิ้ง ให้ทรายในฝ่ามือนั้นกระจายสลายออกไป ตัดความพยาบาท ตัดความจองเวร ตัดชาติภพที่ต้องเกิด ดังนั้นแค่อโหสิกรรม ไม่เป็นเจ้ากรรมนายเวรใคร ชาติภพก็หายไปหลายร้อยล้านชาติ หลายร้อยล้านชาติภพ ถึงบอกว่าถ้าเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องของการเจริญพระกรรมฐาน เข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องชาติภพ ดังนั้นถึงบอกว่าเรารู้ ดีกว่าไม่รู้ ไม่รู้ก็จะไม่เข้าใจว่าทำไม การปฏิบัติ การเจริญพระกรรมฐานถึงมีคุณค่า ทำไมถึงสามารถตัดกรรม แก้กรรม บรรเทาเบาบางวิบากกรรมเราได้
และไม่เฉพาะเจาะจงแต่ผู้ที่ปฏิบัติพระกรรมฐาน ปรารถนาจะแก้วิบากกรรม คนที่มีบารมีอยู่แล้ว มีความดีอยู่แล้ว การปฏิบัติ การเจริญพระกรรมฐาน ก็เป็นการเพิ่มบุญเพิ่มบารมีของเรา แผ่เมตตามากเท่าไหร่ จิตเราก็เกิดจิตตานุภาพ เกิดรัศมีของจิตเพิ่มพูนมากขึ้นมากเพียงนั้น ยิ่งมีเมตตาในจิตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเกิดกระแสแห่งเมตตามหานิยมในตนมากขึ้นเท่านั้น และบารมีที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติ ในการเจริญพระกรรมฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นเป้าหมายที่พระพุทธองค์ทรงตั้งจิตปรารถนาไว้ ก็คือปฏิบัติพระกรรมฐานเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด
เราลองถามใจดูว่าเราปฏิบัติพระกรรมฐาน เพื่อพระนิพพานไหม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราปฏิบัติพระกรรมฐานเพื่อพระนิพพาน แต่ถ้าในระหว่างที่เรามีชีวิตวิบากกรรมมันบรรเทาเบาบางไปได้ มันก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี ชีวิตตราบที่ยังมีร่างกายขันธ์ 5 มีความคล่องตัวมันก็ย่อมเป็นเรื่องที่ดี
ดังนั้นเราพยายามใช้ประโยชน์แห่งการเจริญพระกรรมฐาน ให้เกิดผลสูงสุด ครบในทุกมิติทั้งทางโลกและทางธรรม ตอนนี้ก็สมควรกับเวลา ก็ให้เราตั้งจิต น้อมกระแส ตั้งจิตร่วมบุญ รวมบารมี น้อมกราบอาราธนาบารมีเชื่อมกระแสกับทุกท่านทุกๆพระองค์มีสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน อันนี้ก็คือใช้กำลังในการเจริญพระกรรมฐานของทุกคนในการช่วยเหลือบ้านเมือง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นปฏิปทาสาธารณประโยชน์ เป็นการที่เราเจริญพระกรรมฐานช่วยเหลือส่วนรวม น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมายังโลก ลงมายังประเทศไทย ลงมายังเขตพระพุทธศาสนาทั้งหมด วัดวาอาราม สถานปฏิบัติธรรม ทั้งในประเทศไทย ทั้งในต่างประเทศ ขอกระแสพระนิพพานจงหลั่งไหลลงมา คุ้มครองรักษาชาติ รักษาแผ่นดิน ที่พระพุทธองค์ทรงฝากไว้เป็นเขตจารึกพระพุทธศาสนาให้มั่นคงตราบห้าพันปี
แผ่เมตตาลงมา น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมายังสาธุชนคนดี ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเขตของการปฏิบัติหรือเป็นบุคคลที่ช่วยเหลือประเทศชาติบ้านเมือง ทำคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความปรารถนาดีอย่างแท้จริง
น้อมกระแสบุญลงมายังเขตวัดวาอาราม สถานปฏิบัติธรรม พระธาตุ พระบรมธาตุเจดีย์ น้อมลงมา กระแสจากพระนิพพาน ขออาราธนาลงมา กระแสแห่งมรรคผลพระนิพพาน การปฏิบัติอันเป็นสัมมาทิฏฐิ ขอน้อมลงมาอย่างพุทธบริษัท 4 ทั้งหลาย
ขอให้เกิดพุทธานุภาพ เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ขอเกิดมรรคผล ขอเกิดผลแห่งการปฏิบัติ อันเป็นที่ประจักษ์เป็นปัจจัตตังต่อทุกผู้ทุกรูปทุกนามที่เจริญพระกรรมฐาน ผู้ที่รักษา ทาน ศีล ภาวนา ขอจงเกิดผลอานิสงส์อัศจรรย์จนเป็นกำลังจิตกำลังใจให้ก้าวเดินต่อการปฏิบัติที่สูงขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น ยิ่งขึ้นไปทุกคนทุกรูปทุกนาม
น้อมกระแสแห่งพระนิพพาน น้อมกระแสบุญทั้งหลาย กำลังพุทธานุภาพ เทวดานุภาพ พรหมนุภาพ ลงมายังพระมหาเศวตฉัตร พระบรมมหาราชวัง พระสยามเทวาธิราช ลงมายังเทวดาผู้พิทักษ์รักษาราชบัลลังก์ น้อมกระแสลงมา พิทักษ์รักษาองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
รวมถึงผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง ขอกระแสกุศลรวมตัว ขอบุญทั้งหลายจงค้ำจุนแผ่นดิน น้อมกระแสมองเห็นเป็นภาพแสงสว่างเป็นลำแสงลงมา จิตเราผ่องใส จิตเราปรารถนาดีบุญจงส่งผล กระแสแห่งบุญ กระแสแห่งพระนิพพาน กระแสจิต กระแสกุศลแห่งผู้ปฏิบัติเจริญพระกรรมฐาน ขอจงเกิดกำลังค้ำจุน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขอความดีงามจงรุ่งเรือง ขอกระแสแห่งสัมมาทิฏฐิ จงสลายมิจฉาทิฏฐิ ความเท็จ การบิดเบือน ความหลอกลวงทั้งหลายขอจงเปิดเผยกระจ่างแจ้ง ขอความจริง สัจจะทั้งหลาย สัจจะธรรมทั้งหลาย จงกระจ่างแจ้งตื่นขึ้นในจิตของบุคคลที่มืดบอดในกุศล ในความดี ในคุณธรรม น้อมกระแสแห่งพระนิพพานลงมา
จากนั้น จึงพุ่งจิตกลับมายังร่างกายเนื้อขันธ์ 5 อธิษฐานจิต ขอกระแสจากพระนิพพาน ฟอกชำระล้างร่างกายธาตุขันธ์ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นแก้วใส โครงกระดูกเป็นแก้วใส หลอดเลือดเส้นเอ็น อาการ 32 สะอาดใสเป็นแก้วประกายพรึก น้อมกุศลแห่งการเจริญพระกรรมฐาน เปิดสายบุญ สายทรัพย์ สายสมบัติ สายบารมีของข้าพเจ้าแต่ละบุคคล ขอหนทางแห่งธรรม ความคล่องตัวจงเปิด กุศลจงเปิด บุญใหญ่จงส่งผล จากนั้นน้อมจิตโมทนาสาธุกับเพื่อนกัลยาณมิตรที่เจริญพระกรรมฐานร่วมกันและมาฟังในภายหลัง
บุญแห่งการเจริญพระกรรมฐาน บุญแห่งฌานสมาบัติ บุญแห่งวิปัสสนาญาณ บุญแห่งอารมณ์พระนิพพาน แต่ละท่านได้เราขอโมทนาสาธุกับทุกท่าน บุญของเราก็น้อมให้ทุกคนได้รับ กุศลทั้งหลายขอแผ่ไปอย่างไม่มีประมาณ แล้วก็โดยเฉพาะ น้อมถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา บูชาพ่อแม่ คุณพ่อแม่ คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณทุกท่าน ทุกๆ พระองค์
ก็ขอให้เราทุกคนมีความสุข ความเจริญ มีความรุ่งเรือง แล้วก็ขอแจ้งข่าว วันที่ 28 เมษายน ก็จะมีการเจริญพระกรรมฐานที่สมาคมศิษย์เก่าจุฬารับประมาณ 100 คน
คาดว่าจะประกาศในวันพฤหัสบดีทางหน้า Facebook อาจารย์ เป็นการเจริญพระกรรมฐานเต็มวัน ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆเลี้ยงอาหารกลางวัน แล้วก็จะมีการปฏิบัติโดยการเสริมโดยใช้ Singing Bowl ประกอบกับการเจริญสมาธิจิต ซึ่งจะให้ผลค่อนข้างสูง
เปิดลงทะเบียนออนไลน์ประมาณวันพฤหัสบดี ซึ่งจาก 2 ครั้งที่ผ่านมาก็ 2 วันเต็ม ดังนั้นก็พยายามรวดเร็วหน่อยนะครับ อย่าตายใจ อย่ารออาทิตย์นึง เรียบร้อยเต็มแล้ว แล้วก็ท่านใดที่เป็นจิตอาสาอยากจะมาช่วยงานก็ แจ้งมาที่อาจารย์ได้ เผื่อมาช่วยเป็นสตาฟ อันนี้เรื่องที่ 1
เรื่องที่ 2 ก็อย่าลืมเขียนแผ่นทองอธิษฐานพระนิพพาน จะได้ไปร่วมกันหล่อพระ ตอนนี้ก็ได้ประมาณหลักหมื่น ยังขาดอีกหลายหมื่นแผ่น ก็แจ้งความจำนงได้ในห้องกลุ่มไลน์ สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน ขอให้มีความเจริญก้าวหน้าในธรรม พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ
ถอดเสียงและเรียบเรียงโดย : สิริญาณี แลบัว